เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วย
ศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัด
ธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ เพื่อกำจัด คือ บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับ
ตัณหาเหล่านั้น รวมความว่า ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้า
ของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยมันตา
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[152] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
หรือในภายนอก แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส
คำว่า ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน อธิบายว่า ภิกษุพึง
รู้คุณธรรมของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ คุณธรรมฝ่ายกุศล หรือคุณธรรมฝ่าย
อัพยากฤต1
คุณธรรมของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นว่า เราเป็นผู้ออกบวชจากตระกูลสูง ออกบวชจาก
ตระกูลใหญ่ ออกบวชจากตระกูลมีโภคทรัพย์มาก หรือออกบวชจากตระกูลมี

เชิงอรรถ :
1 อัพยากฤต หมายถึงธรรมที่เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ หรือไม่ชี้ชัดลงไปว่า
ดีหรือชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :418 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
โภคทรัพย์ยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เป็นผู้มี
ปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เป็นผู้ทรงจำ
พระสูตร เป็นผู้ทรงจำพระวินัย เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับ
ตรอกเป็นวัตร เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เป็นผู้
ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เป็นผู้ได้ปฐมฌาน ได้ทุติยฌาน
ได้ตติยฌาน ได้จตุตถฌาน ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ ... ได้วิญญานัญจายตน-
สมาบัติ... ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ... หรือ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติ เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า คุณธรรมของตน ภิกษุพึงรู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดคุณธรรมของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า ภิกษุพึงรู้คุณ
ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
คำว่า หรือในภายนอก อธิบายว่า คุณธรรมเหล่านั้น เป็นของอุปัชฌาย์ หรือ
อาจารย์ รวมความว่า ในภายในหรือในภายนอก
คำว่า แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น อธิบายว่า ภิกษุไม่ควรทำ
ความดื้อรั้น คือ ไม่พึงทำความดื้อดึง ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำความเย่อหยิ่ง
ไม่พึงทำความจองหอง เพราะคุณธรรมของตน หรือคุณธรรมของผู้อื่น ได้แก่ ไม่พึง
ให้มานะเกิด เพราะคุณธรรมนั้น ไม่พึงเป็นคนกระด้าง จองหอง หัวสูง เพราะคุณ
ธรรมนั้น รวมความว่า แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
คำว่า เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับ
กิเลส อธิบายว่า การทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลาย คือ ผู้สงบเย็น สัตบุรุษ
พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก
ไม่แสดง ไม่บัญญัติ ไม่กำหนด ไม่เปิดเผย ไม่จำแนก ไม่ทำให้ง่าย ไม่ประกาศว่า
เป็นความดับกิเลส รวมความว่า เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า
เป็นความดับกิเลส ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
หรือในภายนอก แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :419 }