เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวก ย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
คำว่า สันติ อธิบายว่า ทั้งสันติ และสันติบท มีความหมายอย่างเดียวกัน
สันติบทนั้นนั่นเองคือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัด
ทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่
สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็น
สนิท นี้เป็นบทสงบ เป็นบทประณีต
อีกนัยหนึ่ง โดยความหมายต่างกัน ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ
ถูกต้องความสงบ ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ธรรมเหล่านี้
ตรัสเรียกว่า สันติบท(ทางสงบ) ตาณบท(ทางปกป้อง) เลณบท(ทางหลีกเร้น)
สรณบท(ทางเป็นที่พึ่ง) อภยบท(ทางไม่มีภัย) อัจจุตบท(ทางที่ไม่จุติ) อมตบท(ทาง
อมตธรรม) นิพพานบท(ทางนิพพาน)
คำว่า ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สีลขันธ์ใหญ่
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สมาธิขันธ์ใหญ่... ปัญญา-
ขันธ์ใหญ่... วิมุตติขันธ์ใหญ่... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความ
มืดใหญ่ เครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่ เครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ เครื่อง
ปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่ เครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่ เครื่องเข้าไปสงบอภิสังขาร
ใหญ่ เครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ เครื่องวางภาระใหญ่ เครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ เครื่อง
ดับความเดือดร้อนใหญ่ เครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่ เครื่องยกธงคือธรรมใหญ่
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :410 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่ สัมมัปปธาน
ใหญ่ อิทธิบาทใหญ่ อินทรีย์ใหญ่ พละใหญ่ โพชฌงค์ใหญ่ อริยมรรคมีองค์ 8 ใหญ่
ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์มเหศักดิ์แสวงหา คือ ค้นหา
เสาะหาว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระผู้
ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป อธิบายว่า ภิกษุเห็น คือ แลเห็น เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง อย่างไร จึงทำให้ราคะของตนดับไป ทำให้
โทสะของตนดับไป ทำให้โมหะของตนดับไป ทำให้โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ...
อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ...
มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง...
ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
ดับไป คือ ทำให้สงบ ให้เข้าไปสงบ ให้สงบเย็น ระงับเสียได้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม
ความว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป
คำว่า จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ได้แก่ ไม่ถือมั่น คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน 4
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า อะไร ๆ ได้แก่ อะไร ๆ ที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รวมความว่า จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร
จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :411 }