เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา1 10
กสิณสมาบัติ 10 อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ 10
เวสารัชชญาณ 4 ปฏิสัมภิทา 4 อภิญญา 6 พุทธธรรม 6 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม(พระนามในลำดับการบรรลุ
อรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ(บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล) ของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นโพธิ์
รวมความว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสุตตนิทเทสที่ 13 จบ

เชิงอรรถ :
1 สัญญาภาวนา 10 แนวความคิดความเข้าใจ สำหรับใช้กำหนดพิจารณาในการเจริญกัมมัฏฐาน ได้แก่
(1) อนิจจสัญญา (2) อนัตตสัญญา (3) อสุภสัญญา
(4) อาทีนวสัญญา (5) ปหานสัญญา (6) วิราคสัญญา
(7) นิโรธสัญญา (8) สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
(9) สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา (10) อานาปานสติ (องฺ.ทสก. 24/60/86-89)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :404 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
14. ตุวฏกสุตตนิทเทส1
อธิบายตุวฏกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายตุวฏกสูตร ดังต่อไปนี้
[150] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร
จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป

ว่าด้วยการถาม 3 อย่าง
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
อธิบายว่า
คำว่า ทูลถาม ได้แก่ การถาม 3 อย่าง คือ
1. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
2. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
3. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/922-941/514-518

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :405 }