เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ ได้แก่ เป็นผู้อิ่มใจ คือ เป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง
มีใจเบิกบาน มีใจแช่มชื่น มีใจสูง บันเทิงใจ ปลาบปลื้มใจ รวมความว่า ย่อมเป็นผู้
อิ่มใจแน่แท้
คำว่า ได้ ในคำว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ได้แก่ ได้ คือ ได้แล้ว
ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว
คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์(ผู้ข้องอยู่) นรชน มานพ1 บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า กามตามที่ต้องการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามที่ต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
[2] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด
เหมือนถูกลูกศรแทง
คำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้น ในคำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ ได้แก่ เมื่อ
สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์
คำว่า อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
กามอยู่
อีกนัยหนึ่ง สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป เพราะกามตัณหา
อธิบายว่า เหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยยานพาหนะ คือ
ช้าง ม้า โค แพะ แกะ อูฐ หรือลา ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป
เพราะกามตัณหา ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่

เชิงอรรถ :
1 มานพ มาจากคำว่า มนุ หมายถึง บุตรของพระมนู (ขุ.ม.อ. 1/26)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :4 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่เกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว
แก่สัตว์นั้น
คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว
คำว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไป ได้แก่ กามเหล่านั้นเสื่อมไป หรือสัตว์นั้นเสื่อม
จากกามทั้งหลาย
กามเหล่านั้นเสื่อมไปได้อย่างไร
คือ เมื่อสัตว์นั้นดำรงชีพอยู่นั่นเอง โภคทรัพย์พินาศเพราะเหตุ 8 ประการ คือ
1. ถูกพระราชาริบ
2. ถูกโจรปล้น
3. ถูกไฟไหม้
4. ถูกน้ำท่วมพัดพาไป
5. ถูกทายาทผู้ไม่เป็นที่รักลักขโมยไป
6. โภคทรัพย์ที่ฝังไว้แล้วหาไม่พบ
7. กิจการล้มเหลวเพราะจัดการไม่ดี
8. มีคนล้างผลาญตระกูล ล้างผลาญ รุกราน ทำลายโภคทรัพย์เหล่านั้น
ให้พินาศเกิดขึ้นในตระกูล
กามเหล่านั้น เสียไป เสื่อมไป คือ สิ้นไป หมดไป สูญหายไป สลายไปด้วยอาการ
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :5 }