เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข1
เมื่อใด เสนามารทั้งหมด และกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกมุนี
พิชิตและทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค 4
เมื่อนั้น มุนีนั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา คือ เป็นผู้กำจัดเสนาในรูปที่เห็น
กำจัดเสนาในเสียงที่ได้ยิน กำจัดเสนาในอารมณ์ที่รับรู้ และกำจัดเสนาในธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้งแล้ว รวมความว่า มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ว่าด้วยภาระ 3 อย่าง
คำว่า มุนีนั้น เป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ภาระ ได้แก่ ภาระ 3 อย่าง คือ (1) ขันธภาระ (2) กิเลสภาระ
(3) อภิสังขารภาระ
ขันธภาระ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่าขันธภาระ
กิเลสภาระ เป็นอย่างไร
คือ ราคะ โทสะ โมหะ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท นี้ชื่อว่ากิเลสภาระ
อภิสังขารภาระ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่าอภิสังขารภาระ
เมื่อใดขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระ มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้น มุนีนั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว คือ ผู้มีภาระ
ตกไปแล้ว มีภาระอันปลดแล้ว มีภาระอันปล่อยแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีภาระ
อันระงับแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/439-442/416

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :398 }