เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้กล่าวความหมดจด ในคำว่า นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็น
ว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น อธิบายว่า กล่าวความหมดจด คือ กล่าวความสะอาด กล่าว
ความบริสุทธิ์ กล่าวความผ่องแผ้ว กล่าวความผ่องใส อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีความเห็น
หมดจด คือ เป็นผู้มีความเห็นสะอาด เป็นผู้มีความเห็นบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็น
ผ่องแผ้ว เป็นผู้มีความเห็นผ่องใส รวมความว่า ผู้กล่าวความหมดจด
คำว่า ในทิฏฐินั้น ได้แก่ ในทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน ความพอใจ
ของตน ลัทธิของตน
คำว่า นรชนนั้น... ได้เห็นว่าแท้จริง อธิบายว่า ได้เห็น คือ ได้แลเห็น
มองเห็น แทงตลอดแล้วว่า แท้จริง คือแท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[146] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ทราบแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด เป็น
คำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม 7 ประการ
ได้แล้ว... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :389 }