เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[145] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
คำว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำ
ได้ง่าย อธิบายว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ" มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า "โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ"
คำว่า ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย อธิบายว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่น เป็นคนที่พึงแนะนำได้ยาก ทำให้เข้าใจได้ยาก ทำให้เพ่งพินิจได้ยาก
ทำให้พิจารณาได้ยาก ทำให้เลื่อมใสได้ยาก รวมความว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
คำว่า เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว อธิบายว่า เป็นผู้เชิดชู คือ เที่ยว
ยกย่องทิฏฐิที่กำหนดแล้ว กำหนดไว้แล้ว คือ ปรุงแต่งไว้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้ว มีทิฏฐิ
เป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นยอดธง มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ถูกทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
คำว่า อาศัยศาสดาใด ในคำว่า อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐินั้น อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อ
ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใด รวมความว่า
อาศัยศาสดาใด
คำว่า ในเพราะทิฏฐินั้น ได้แก่ ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน
ความพอใจของตน ลัทธิของตน
คำว่า ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม ได้แก่ กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม คือ
กล่าวว่าดี กล่าวว่าเป็นบัณฑิต กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่า
มีเหตุผล กล่าวว่ามีคุณลักษณะ กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะ ตามลัทธิ
ของตน รวมความว่า อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :388 }