เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
อธิบายว่า พราหมณ์ย่อมไม่เห็น คือ ไม่แลเห็น ไม่ตรวจดู ไม่เพ่งพินิจ ไม่พิจารณา
เห็นศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น คือ
อื่นจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค
มีองค์ 8 ว่า เป็นธรรมเลิศ ประเสริฐ คือ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด
รวมความว่า แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลายก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
[143] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจด
เพราะทิฏฐิว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมีประโยชน์อะไร
ด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์นั้นเล่า
พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
คำว่า เรารู้ ในคำว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง ได้แก่ เรารู้ด้วย
ปรจิตตญาณ(ญาณเป็นเครื่องรู้ใจผู้อื่น)บ้าง รู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ญาณ
เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในกาลก่อน)บ้าง
คำว่า เราเห็น ได้แก่ เราเห็นด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
คำว่า ความหมดจดนี้ว่ามีจริง ได้แก่ ความหมดจดนี้มีแท้จริง แท้ เป็นจริง
แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :384 }