เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[139] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
คำว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์
อธิบายว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ
ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตน อย่างนี้ว่า "ธรรมนี้เพียบพร้อม บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง"
รวมความว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์
คำว่า แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว อธิบายว่า สมณพราหมณ์พวก
เดียวกันนั้น กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค
ของผู้อื่น อย่างนี้ว่า "ธรรมนี้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย"
รวมความว่า แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
คำว่า พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์ จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอย่างนี้ ย่อมวิวาทกัน คือ ย่อมก่อ
การทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกันโดย
พูดว่า "ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด" รวมความว่า
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
คำว่า เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง อธิบายว่า ต่างกล่าวว่า
"โลกเที่ยง... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ" รวมความว่า เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติ
ของตน ๆ ว่า จริง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :379 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[140] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมากต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวธรรมของผู้อื่นโดยความเป็นสิ่งเลวทราม
คำว่า หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้ อธิบายว่า
หากบุคคลอื่นเป็นคนพาล เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะเหตุที่ผู้อื่นติเตียน คือ เพราะเหตุที่ผู้อื่นนินทา ตำหนิ ว่าร้ายไซร้ รวมความว่า
หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
คำว่า ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย อธิบายว่า ก็จะไม่พึงมี
ใครเลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุดในธรรมทั้งหลายได้เลย
รวมความว่า ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
คำว่า เพราะคนส่วนมาก... พากันกล่าวธรรมของผู้อื่นโดยความเป็นสิ่งเลว
ทราม อธิบายว่า คนส่วนมากพากันกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคน
ส่วนมาก โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง
คนส่วนมากพากันกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคนผู้หนึ่ง โดยความ
เป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง คนผู้หนึ่ง
กล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคนส่วนมาก โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม
คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง คนผู้หนึ่งกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา
ติเตียนธรรมของคนผู้หนึ่ง โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง รวมความว่า เพราะคนส่วนมาก... พากันกล่าวธรรมของผู้อื่น
โดยความเป็นสิ่งเลวทราม
คำว่า ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน... โดยความเป็นสิ่งเลวทราม
อธิบายว่า ธรรม ชื่อว่าแนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่า
แนวทางของตน มรรค ก็ชื่อว่าแนวทางของตน คนส่วนมากต่างกล่าวยืนยัน คือ
กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า ต่างกล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :380 }