เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เวียนว่ายตายเกิด ผู้มีความเห็นว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ1 มีวาทะว่าเที่ยง2
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็พร่ำพูด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยสงสาร
รวมความว่า เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า ... จึงยังพร่ำพูดถึงความ
หมดจดอยู่
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปาก-
วัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็น
เครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิ
ต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป รวมความว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อย
ภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
[137] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ทำแล้วไม่เป็นอันทำ หมายถึง อกิริยทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่ว
ก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม (ที.สี.อ. 166/145)
2 มีวาทะว่าเที่ยง หมายถึง สัสสตทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่า โลกและอัตตาเที่ยง (ที.สี. (แปล) 9/30-37/11-16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :375 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร
คำว่า ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า ผู้กำลังปรารถนา ได้แก่ ผู้กำลังปรารถนา คือ ผู้กำลังต้องการ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ผู้กำลังปรารถนา
คำว่า ชอบใจ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความชอบใจ คือ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ รวมความว่า
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
คำว่า ความกำหนด ในคำว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่
กำหนดแล้ว ได้แก่ ความกำหนด 2 อย่าง คือ (1) ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว อธิบายว่า
ผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่กำหนดไว้แล้วจะถูกแย่งชิงไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้น
กำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมหวั่นไหวบ้าง
ผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่กำหนดไว้แล้วจะแปรผันไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้น
กำลังแปรผันไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมหวั่นไหว คือ
สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่บ้าง รวมความว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะ
วัตถุที่กำหนดแล้ว
คำว่า ภิกษุใด ในคำว่า ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดใน
ธรรมวินัยนี้ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ อธิบายว่า การไป การมา การไปและ
การมา ความตาย คติ ภพน้อยภพใหญ่ จุติ การถือกำเนิด ความเกิด ความดับ
ชาติ ชรา มรณะ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ แก่พระอรหันตขีณาสพใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :376 }