เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่มีอยู่
พระอรหันต์ไม่ยึด คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิที่มีอยู่ รวมความว่า งดเว้นแล้ว
ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อริยสาวกละศีลวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษนั้นเสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[136] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
คำว่า สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น อธิบายว่า
สมณพราหมณ์บางพวก มีวาทะเกลียดชังตบะ ถือการเกลียดชังตบะเป็นสรณะ
อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อความเกลียดชังตบะ รวมความว่า
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
คำว่า เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
อาศัย เข้าไปอาศัย คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดเพราะรูป
ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือความ
หมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวมความว่า เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรือ
อารมณ์ที่รับรู้
คำว่า เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า... จึงยังพร่ำพูดถึงความ
หมดจดอยู่ อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวก เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสาร
ข้างหน้า สมณพราหมณ์พวกไหน เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า สมณ-
พราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้ถือความหมดจดโดยส่วนเดียว ถือความหมดจดโดยการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :374 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เวียนว่ายตายเกิด ผู้มีความเห็นว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ1 มีวาทะว่าเที่ยง2
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็พร่ำพูด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยสงสาร
รวมความว่า เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า ... จึงยังพร่ำพูดถึงความ
หมดจดอยู่
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปาก-
วัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็น
เครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิ
ต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป รวมความว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อย
ภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
[137] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ทำแล้วไม่เป็นอันทำ หมายถึง อกิริยทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่ว
ก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม (ที.สี.อ. 166/145)
2 มีวาทะว่าเที่ยง หมายถึง สัสสตทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่า โลกและอัตตาเที่ยง (ที.สี. (แปล) 9/30-37/11-16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :375 }