เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อธิบายว่า ไม่ทำความ
พอใจ คือ ไม่ทำฉันทะ ไม่ทำความรัก ไม่ทำความกำหนัด ได้แก่ ไม่ให้ความ
พอใจเกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นในรูปที่เห็น หรือความหมดจด
เพราะรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ในอารมณ์
ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวมความว่า ไม่ทำความพอใจในรูป
ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า
[133] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ

ว่าด้วยผู้มีกุศลถึงพร้อมประกอบด้วยธรรม 4 ประการ
คำว่า สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด... ได้กล่าวความหมดจดด้วย
ความสำรวม อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว คือ ย่อมกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพียงด้วยศีล
เพียงด้วยความสำรวม เพียงด้วยความสังวร เพียงด้วยความไม่ล่วงละเมิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :367 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เปรียบเหมือนปริพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางปริพาชิกาชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวไว้
อย่างนี้ว่า "ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะไม่มีใครสู้ได้ ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
ช่างไม้เอ๋ย บุคคลเช่นนั้นในโลกนี้
1. ย่อมไม่ทำกรรมชั่วช้าทางกาย
2. ไม่กล่าววาจาชั่วช้า
3. ไม่ดำริความดำริชั่วช้า
4. ไม่ประกอบอาชีพชั่วช้า
ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้แลว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะไม่มีใครสู้ได้1 ฉันใด มีสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว คือ ย่อมกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยเหตุ
เพียงศีล ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความสังวร ด้วยเหตุเพียงความ
ไม่ล่วงละเมิด ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า
สูงสุด ... ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวม

ว่าด้วยการสมาทานวัตรต่าง ๆ
คำว่า วัตร ในคำว่า สมาทานวัตรแล้วดำรงอยู่ อธิบายว่า ถือเอา สมาทาน
คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่น วัตรเยี่ยงช้างบ้าง วัตรเยี่ยงม้าบ้าง วัตร
เยี่ยงโคบ้าง วัตรเยี่ยงแพะบ้าง วัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง วัตรเยี่ยงกาบ้าง วัตรเยี่ยง
ท้าววาสุเทพบ้าง วัตรเยี่ยงท้าวปุณณภัทรบ้าง วัตรเยี่ยงท้าวมณีภัทรบ้าง วัตรคือ
การบูชาไฟบ้าง วัตรเยี่ยงนาคบ้าง วัตรเยี่ยงครุฑบ้าง วัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง วัตรเยี่ยง
อสูรบ้าง วัตรเยี่ยงคนธรรพ์บ้าง วัตรเยี่ยงท้าวมหาราชบ้าง วัตรเยี่ยงพระจันทร์บ้าง

เชิงอรรถ :
1 ม.ม. 13/260/235

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :368 }