เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิด
จากปุถุชน ได้แก่ ทุกอย่างโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ทิฏฐิสมมติ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่า สมมติ จึงชื่อว่า
ทิฏฐิสมมติ
คำว่า เกิดจากปุถุชน อธิบายว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากปุถุชน จึงชื่อว่า
เกิดจากปุถุชน หรือ ทิฏฐิสมมติเหล่านี้เกิดจากชนต่าง ๆ มากมาย จึงชื่อว่าเกิดจาก
ปุถุชน รวมความว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
คำว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง อธิบายว่า
บุคคลผู้มีความรู้ คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ย่อมไม่ถึง ไม่เข้าถึง คือ ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ทิฏฐิสมมติเหล่านี้
ทุกอย่าง รวมความว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง

ว่าด้วยกิเลสเป็นเหตุเข้าถึง 2 อย่าง
คำว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง ในคำว่า บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น...
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า อธิบายว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง 2 อย่าง คือ
(1) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา (2) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ
... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึง
ด้วยอำนาจทิฏฐิ
บุคคลนั้นละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งกิเลสเป็น
เหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจ
ตัณหา สลัดทิ้งกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว บุคคลจึงชื่อว่าไม่มีกิเลส
เป็นเหตุเข้าถึง พึงเข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น รูปอะไรเล่าว่า "อัตตา
ของเรา"... เวทนาอะไรเล่า... สัญญาอะไรเล่า... สังขารอะไรเล่า... คติอะไรเล่า...
การเข้าถึงกำเนิดอะไรเล่า... ปฏิสนธิอะไรเล่า... ภพอะไรเล่า... สงสารอะไรเล่า" พึง
เข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น วัฏฏะอะไรเล่าว่า "วัฏฏะของเรา"
รวมความว่า ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น... พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :366 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อธิบายว่า ไม่ทำความ
พอใจ คือ ไม่ทำฉันทะ ไม่ทำความรัก ไม่ทำความกำหนัด ได้แก่ ไม่ให้ความ
พอใจเกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นในรูปที่เห็น หรือความหมดจด
เพราะรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ในอารมณ์
ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวมความว่า ไม่ทำความพอใจในรูป
ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า
[133] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ

ว่าด้วยผู้มีกุศลถึงพร้อมประกอบด้วยธรรม 4 ประการ
คำว่า สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด... ได้กล่าวความหมดจดด้วย
ความสำรวม อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว คือ ย่อมกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพียงด้วยศีล
เพียงด้วยความสำรวม เพียงด้วยความสังวร เพียงด้วยความไม่ล่วงละเมิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :367 }