เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงวิวาทกัน อธิบายว่า ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อการบาดหมาง
ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการวิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง
การวิวาท การมุ่งร้าย ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก
หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท
และการมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
... ไม่พึงวิวาทกัน
คำว่า มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม อธิบายว่า อมตนิพพาน
ตรัสเรียกว่า ภูมิแห่งการไม่วิวาท ได้แก่ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
บุคคลมองเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นภูมิแห่งการ
ไม่วิวาทนี้ โดยความเป็นธรรมอันเกษม คือ โดยความเป็นธรรมเครื่องป้องกัน
เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไม่มีภัย เป็นที่ไม่จุติ เป็นอมตธรรม เป็นนิพพาน
รวมความว่า มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น 2 อย่าง
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม ไม่พึงวิวาทกัน
[132] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :365 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิด
จากปุถุชน ได้แก่ ทุกอย่างโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ทิฏฐิสมมติ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่า สมมติ จึงชื่อว่า
ทิฏฐิสมมติ
คำว่า เกิดจากปุถุชน อธิบายว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากปุถุชน จึงชื่อว่า
เกิดจากปุถุชน หรือ ทิฏฐิสมมติเหล่านี้เกิดจากชนต่าง ๆ มากมาย จึงชื่อว่าเกิดจาก
ปุถุชน รวมความว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
คำว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง อธิบายว่า
บุคคลผู้มีความรู้ คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ย่อมไม่ถึง ไม่เข้าถึง คือ ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ทิฏฐิสมมติเหล่านี้
ทุกอย่าง รวมความว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง

ว่าด้วยกิเลสเป็นเหตุเข้าถึง 2 อย่าง
คำว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง ในคำว่า บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น...
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า อธิบายว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง 2 อย่าง คือ
(1) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา (2) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ
... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึง
ด้วยอำนาจทิฏฐิ
บุคคลนั้นละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งกิเลสเป็น
เหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจ
ตัณหา สลัดทิ้งกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว บุคคลจึงชื่อว่าไม่มีกิเลส
เป็นเหตุเข้าถึง พึงเข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น รูปอะไรเล่าว่า "อัตตา
ของเรา"... เวทนาอะไรเล่า... สัญญาอะไรเล่า... สังขารอะไรเล่า... คติอะไรเล่า...
การเข้าถึงกำเนิดอะไรเล่า... ปฏิสนธิอะไรเล่า... ภพอะไรเล่า... สงสารอะไรเล่า" พึง
เข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น วัฏฏะอะไรเล่าว่า "วัฏฏะของเรา"
รวมความว่า ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น... พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :366 }