เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่า
ทิฏฐิที่ตกลงใจ เจ้าลัทธิ ละ คือ สละ สละขาด เว้น ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิที่ตกลงใจทุกอย่าง จากความตกลงใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
รวมความว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
คำว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก อธิบายว่า ไม่ก่อการ
ทะเลาะ ไม่ก่อการบาดหมาง ไม่ก่อการแก่งแย่ง ไม่ก่อการวิวาท ไม่ก่อการมุ่งร้าย
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
อย่างนี้แล ย่อมไม่โต้เถียงกับใคร ไม่วิวาทกับใคร ย่อมชี้แจง ไม่ถือมั่นสิ่งที่กล่าวกัน
ในโลก เรื่องใด ที่พูดกันในโลก เธอก็ไม่ยึดมั่นชี้แจงด้วยเรื่องนั้น1
คำว่า คนที่เกิดมา ได้แก่สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสุตตนิทเทสที่ 12 จบ

เชิงอรรถ :
1 ม.ม. 13/205/182

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :361 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส1
อธิบายมหาวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมหาวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[130] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น
คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง ในคำว่า สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ ได้แก่ ทุกพวกโดยอาการทั้งหมด ทุกพวกไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง นี้ เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ 62 แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ เหมือนพวก
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือพวกปุถุชนผู้มี
กิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาทิฏฐิ2 62 แล้ว
อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้ ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ"

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/902-921/510-514
2 ทิฏฐิ 62 ดูเชิงอรรถข้อ 12/59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :362 }