เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก1 มนุษยโลก เทวโลก2 ขันธโลก ธาตุโลก3
อายตนโลก4
คำว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย อธิบาย
ว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกเป็นของที่นรชนละได้ยาก คือ สละได้ยาก สละออก
ได้ยาก ย่ำยีได้ยาก แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก
ก้าวพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก รวมความว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็น
ของที่นรชนละได้ง่ายเลย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 อบายโลก คือโลกที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่ (1) นิรย นรก (2) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
(3) ปิตติวิสัย แดนเปรต (4) อสุรกาย พวกหวาดหวั่นไร้ความเจริญ (ขุ.อิติ. 25/93/312)
2 เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง 6 เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข แต่ยัง
เกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (1) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง 4 ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ จอม-
คนธรรพ์ครองทิศตะวันออก, ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้, ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศตะวันตก,
ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (2) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ 33 มีท้าวสักกะ เป็น
จอมเทพ (3) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (4) ดุสิต แดนที่อยู่
แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (5) นิมมานรดี แดนแห่งเทพผู้มี
ความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (6) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจ
ให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือเสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ (สํ.ม.
19/1081/369)
3 ธาตุโลก หมายถึงธาตุ 18 คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไปตาม
ธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบจำเพาะตัว
อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (1) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (2) รูปธาตุ ธาตุคือ
รูปารมณ์ (3) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (4) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (5) สัททธาตุ
ธาตุคือสัททารมณ์ (6) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (7) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท (8) คันธธาตุ
ธาตุคือคันธารมณ์ (9) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (10) ชิวหาธาตุ ธาตุคือชิวหาปสาท
(11) รสธาตุ ธาตุคือรสารมณ์ (12) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (13) กายธาตุ ธาตุคือ
กายปสาท (14) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (15) กายวิญญาณธาตุ ธาตุคือกายวิญญาณ
(16) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (17) ธรรมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (18) มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือ
มโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) 35/183-184/142-146)
4 อายตนโลก หมายถึงอายตนะ 12 คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน 6 ได้แก่ (1) ตา (2) หู (3) จมูก (4) ลิ้น (5) กาย (6) ใจ อายตนะภายนอก 6 ได้แก่
(1) รูป (2) เสียง (3) กลิ่น (4) รส (5) โผฏฐัพพะ (6) ธรรมารมณ์ ทั้ง 6 นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ 6 คือ
เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) 35/154-167/112-118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :36 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
[8] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เหล่านั้น มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง หรือในกาลก่อน
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย
คำว่า มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนัก
แห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น ความหื่นกระหาย ความ
ข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติ
ที่ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่
มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่
แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำ
พาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย
ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง
ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความ
หวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่
กระซิบบ่อยๆ ธรรมชาติที่กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ
ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่
อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :37 }