เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่าอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62
ตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร ทิฏฐิ 62 จึงตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ เพราะทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมด
ก้าวล่วงเหตุ ก้าวล่วงลักษณะ ก้าวล่วงฐานะ เพราะเหตุนั้น ทิฏฐิ 62 จึงตรัสเรียกว่า
อติสารทิฏฐิ เดียรถีย์ทุกจำพวก เป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ เพราะเดียรถีย์
เหล่านั้น ก้าวล่วง คือ ก้าวพ้น ล่วงพ้นกันและกัน ทำทิฏฐิทั้งหลายให้เกิด ให้เกิดขึ้น
ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า เจ้าลัทธิ
เป็นผู้เพียบพร้อม คือ บริบูรณ์ ไม่บกพร่องด้วยอติสารทิฏฐิ รวมความว่า เจ้าลัทธิ
นั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
คำว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อธิบายว่า เมา คือ ประมาท
คลั่ง คลั่งไคล้ด้วยทิฏฐิของตน คือ ด้วยความถือตัวเพราะทิฏฐิ รวมความว่า
เมาด้วยความถือตัว
คำว่า มีความถือตัวจัด ได้แก่ มีความถือตัวจัด คือ มีความถือตัวมาก
มีความถือตัวไม่บกพร่อง รวมความว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด
คำว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ อธิบายว่า อภิเษกตนเองนั่นแหละด้วยความ
คิดว่า "เราเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส" รวมความว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ
คำว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น อธิบายว่า ทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิ
ถือกันมาแล้ว คือ สมาทานแล้ว ถือแล้ว ยึดมั่นแล้ว ถือมั่นแล้ว ติดใจแล้ว
น้อมใจเชื่อแล้วอย่างนั้น รวมความว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :354 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
[125] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวท1เองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
คำว่า อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้ อธิบายว่า
หากบุคคลอื่นเป็นคนพาล เลว เลวทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะวาจา คือ เพราะถ้อยคำของผู้อื่น เพราะเหตุที่ถูกนินทา เพราะเหตุที่ถูกติเตียน
เพราะเหตุที่ถูกว่าร้ายไซร้ รวมความว่า อนึ่งหากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจา
ของผู้อื่นไซร้
คำว่า เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น อธิบายว่า แม้เขาก็เป็นผู้มี
ปัญญาเลว คือ เป็นผู้มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ
มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย พร้อมกับผู้นั้นนั่นเอง รวมความว่า เขาก็เป็น
ผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
คำว่า และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้ อธิบายว่า และ
ถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่อง
ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลสไซร้ รวมความว่า
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้

เชิงอรรถ :
1 จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี 3 คือ (1) ฤคเวท
(อิรุเวท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (2) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (3) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (4) อถรรพเวทหรืออาถรรพณเวท
ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. 2/59/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :355 }