เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า "คนอื่นเป็นคนพาล คือ เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย ไม่ฉลาด ไม่มีความรู้ ตกอยู่ในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญา
แจ่มแจ้ง ไม่มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส มีปัญญาทึบ" รวมความว่า กล่าวว่า
คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[123] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน

เจ้าลัทธิเห็นคนอื่นเป็นพาล
คำว่า เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด อธิบายว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟ คือ เห็น มองเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูบุคคลอื่น
โดยความเป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะเหตุใด คือ เพราะปัจจัยใด เพราะการณ์ใด เพราะแดนเกิดใด รวมความว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
คำว่า ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น อธิบายว่า ตน
ตรัสเรียกว่า ตนเอง
เจ้าลัทธิแม้นั้นกล่าวถึงตนเองว่า "เราเป็นคนฉลาด คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :352 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เพราะเหตุนั้น คือ เพราะปัจจัยนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะแดนเกิดนั้น รวมความว่า
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
คำว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด อธิบายว่า เจ้าลัทธินั้น
อวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์
อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่า
สมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
คำว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน อธิบายว่า เจ้าลัทธิไม่นับถือ
จึงชื่อว่า ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัสให้เกิดจึงชื่อว่า
ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง
คำว่า และกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ได้แก่ กล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน คือ
ทิฏฐินั้นว่า "บุคคลนี้ มีความเห็นผิด มีความเห็นวิปริต แม้ด้วยประการอย่างนี้"
รวมความว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[124] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :353 }