เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความจริงไม่ต่างกัน
คำว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย อธิบายว่า มิได้มีสัจจะ
หลายอย่างต่าง ๆ กัน คือ มิได้มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้มากมายเลย
รวมความว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
คำว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก อธิบายว่า เว้นแต่สัจจะที่ถือ
ว่าแน่นอนด้วยสัญญา สัจจะอย่างเดียวเท่านั้นที่บัณฑิตกล่าว บอก แสดง ชี้แจงไว้ใน
โลก ได้แก่ นิพพาน คือ ความดับทุกข์ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ... 8. สัมมาสมาธิ
ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วย
สัญญาในโลก
คำว่า แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลาย
ไปเองแล้วกล่าวธรรมเป็น 2 อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์พากันตรึก ตรอง ดำริ แล้วทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น ครั้นทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นแล้วก็กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า "คำของเราจริง คำของท่านเท็จ" รวมความว่า
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง แล้วกล่าว
ธรรมเป็น 2 อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น 2 อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :350 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[122] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด

เจ้าลัทธิแสดงความดูหมิ่นผู้อื่น
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร
หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า เจ้าลัทธิอาศัย คือ เข้าไป
อาศัย ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดเพราะรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ศีล หรือความหมดจดเพราะศีล วัตร หรือ
ความหมดจดเพราะวัตร อารมณ์ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวม
ความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรือ
อารมณ์ที่รับรู้แล้ว
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้... แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า
เจ้าลัทธิไม่นับถือ จึงชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัส
ให้เกิด ก็ชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง รวมความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
คำว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง อธิบายว่า ทิฏฐิ 62
ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
เจ้าลัทธิ ดำรงอยู่ คือ ยืนยันอยู่ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
รวมความว่า ดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
คำว่า ก็ร่าเริง ได้แก่ ยินดี หัวเราะ ร่าเริง ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์แล้ว
อีกนัยหนึ่ง หัวเราะจนมองเห็นฟัน รวมความว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
ก็ร่าเริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :351 }