เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความจริงไม่ต่างกัน
คำว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย อธิบายว่า มิได้มีสัจจะ
หลายอย่างต่าง ๆ กัน คือ มิได้มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้มากมายเลย
รวมความว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
คำว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก อธิบายว่า เว้นแต่สัจจะที่ถือ
ว่าแน่นอนด้วยสัญญา สัจจะอย่างเดียวเท่านั้นที่บัณฑิตกล่าว บอก แสดง ชี้แจงไว้ใน
โลก ได้แก่ นิพพาน คือ ความดับทุกข์ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ... 8. สัมมาสมาธิ
ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วย
สัญญาในโลก
คำว่า แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลาย
ไปเองแล้วกล่าวธรรมเป็น 2 อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์พากันตรึก ตรอง ดำริ แล้วทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น ครั้นทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นแล้วก็กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า "คำของเราจริง คำของท่านเท็จ" รวมความว่า
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง แล้วกล่าว
ธรรมเป็น 2 อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น 2 อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :350 }