เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ
เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้
ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นรูปาวจร ที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งปวง กามที่
เป็นเหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ ชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วย
อำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่
ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือ
ความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย1
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา. 27/39/188, ขุ.จู. 30/8/39

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก1 มนุษยโลก เทวโลก2 ขันธโลก ธาตุโลก3
อายตนโลก4
คำว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย อธิบาย
ว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกเป็นของที่นรชนละได้ยาก คือ สละได้ยาก สละออก
ได้ยาก ย่ำยีได้ยาก แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก
ก้าวพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก รวมความว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็น
ของที่นรชนละได้ง่ายเลย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 อบายโลก คือโลกที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่ (1) นิรย นรก (2) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
(3) ปิตติวิสัย แดนเปรต (4) อสุรกาย พวกหวาดหวั่นไร้ความเจริญ (ขุ.อิติ. 25/93/312)
2 เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง 6 เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข แต่ยัง
เกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (1) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง 4 ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ จอม-
คนธรรพ์ครองทิศตะวันออก, ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้, ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศตะวันตก,
ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (2) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ 33 มีท้าวสักกะ เป็น
จอมเทพ (3) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (4) ดุสิต แดนที่อยู่
แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (5) นิมมานรดี แดนแห่งเทพผู้มี
ความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (6) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจ
ให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือเสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ (สํ.ม.
19/1081/369)
3 ธาตุโลก หมายถึงธาตุ 18 คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไปตาม
ธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบจำเพาะตัว
อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (1) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (2) รูปธาตุ ธาตุคือ
รูปารมณ์ (3) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (4) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (5) สัททธาตุ
ธาตุคือสัททารมณ์ (6) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (7) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท (8) คันธธาตุ
ธาตุคือคันธารมณ์ (9) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (10) ชิวหาธาตุ ธาตุคือชิวหาปสาท
(11) รสธาตุ ธาตุคือรสารมณ์ (12) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (13) กายธาตุ ธาตุคือ
กายปสาท (14) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (15) กายวิญญาณธาตุ ธาตุคือกายวิญญาณ
(16) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (17) ธรรมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (18) มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือ
มโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) 35/183-184/142-146)
4 อายตนโลก หมายถึงอายตนะ 12 คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน 6 ได้แก่ (1) ตา (2) หู (3) จมูก (4) ลิ้น (5) กาย (6) ใจ อายตนะภายนอก 6 ได้แก่
(1) รูป (2) เสียง (3) กลิ่น (4) รส (5) โผฏฐัพพะ (6) ธรรมารมณ์ ทั้ง 6 นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ 6 คือ
เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) 35/154-167/112-118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :36 }