เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ 2
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
[120] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
คำว่า เพราะเหตุไร ในคำว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์
จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ อธิบายว่า เพราะเหตุไร คือ เพราะการณ์ไร เพราะอะไร
เป็นเหตุ เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ พวกสมณพราหมณ์จึงพูด
สัจจะไปต่าง ๆ คือ พูดหลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ พูด คือ กล่าว บอก แสดง
ชี้แจงมากมาย รวมความว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะ
ไปต่าง ๆ
คำว่า พูดพร่ำกันไป ในคำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป อธิบาย
ว่า เพราะพูดพร่ำเพ้อไป จึงชื่อว่าพูดพร่ำกันไป
อีกนัยหนึ่ง พวกสมณพราหมณ์พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิ
ของตน ๆ ว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ" พวกสมณพราหมณ์
พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิของตน ๆ ว่า "โลกไม่เที่ยง... หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ"
คำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า อ้างตนว่าเป็น
คนฉลาด พูดพร่ำกันไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :348 }