เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส1
อธิบายจูฬวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายจูฬวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[113] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คำว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
บางพวก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใด
อย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ2 62 แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ
เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือ
พวกปุถุชนผู้มีกิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด มีสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ 62 แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
รวมความว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
คำว่า ถือแล้ว ในคำว่า ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
ได้แก่ ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/885-901/506-510
2 ดูเชิงอรรถข้อ 7/29

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :338 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า พูดกันไปต่าง ๆ ได้แก่ พูดกันไปต่าง ๆ คือ พูดมากอย่าง พูดอย่างโน้น
อย่างนี้ พูดไปมากมาย คือ ไม่กล่าว ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงเป็นอย่าง
เดียวกัน
คำว่า อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด คือ อ้างว่าเป็น
บัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า ถือแล้วก็อ้างตัว
ว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
คำว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นก็ชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว อธิบายว่า บุคคลใด
รู้ธรรม คือ ทิฏฐิ1 ปฏิปทา2 มรรค3 นี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ คือ ได้รู้ ได้เห็น ได้แทง
ตลอดธรรมแล้ว รวมความว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
คำว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ อธิบายว่า บุคคลใด
คัดค้านธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค นี้ บุคคลนั้น ชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คือ ไม่สมบูรณ์ ไม่บริบูรณ์ ได้แก่ บุคคลนั้นเป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่
สำเร็จกิจ ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ดูเชิงอรรถข้อ 7/29
2 ปฏิปทา แนวปฏิบัติที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดมุ่งหมาย คือความหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวะ (องฺ.จตุกฺก. 21/
167-168/176-177)
3 มรรค ดูรายละเอียดข้อ 119/347

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :339 }