เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้เป็นพระโสดาบันย่อมมีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ1 วิจิกิจฉา2 สีลัพพตปรามาส3
ทิฏฐานุสัย4 วิจิกิจฉานุสัย5 และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับสักกายทิฏฐิ
เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระสกทาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์6 ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
หยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
กามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
ละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียว
กับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ7 อรูปราคะ8 มานะ อุทธัจจะ
อวิชชา มานานุสัย9 ภวราคานุสัย10 อวิชชานุสัย11 เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
รูปราคะเป็นต้นนั้น และสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก

เชิงอรรถ :
1 สักกายทิฏฐิ ดูเชิงอรรถข้อ 12/59
2 วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในฐานะ 8 อย่าง คือ (1) ความสงสัยในทุกข์ (2) ความสงสัยในทุกขสมุทัย
(3) ความสงสัยในทุกขนิโรธ (4) ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (5) ความสงสัยในส่วนเบื้องต้น
(6) ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย (7) ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย (8) ความสงสัย
ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้เป็นปัจจัย ดูรายละเอียด ข้อ 174/494
3 สีลัพพตปรามาส คือความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์ หลุดพ้น
ได้ด้วยศีลพรต (ขุ.ม.อ. 7/98)
4 ทิฏฐานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ 3/11
5 วิจิกิจฉานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ 3/11
6 กามราคสังโยชน์ กิเลสอันผูกใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์หรือผูกกรรมไว้กับผล คือความกำหนัด
ในกาม ความติดใจในกาม (อภิ.วิ.(แปล) 35/969/620)
7 รูปราคะ คือความกำหนัดด้วยอำนาจความพอในรูปภพ (ขุ.ม.อ. 7/100)
8 อรูปราคะ คือความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอรูปภพ (ขุ.ม.อ. 7/100)
9 มานานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ 3/11
10 ภวราคานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ 3/11
11 อวิชชานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ 3/11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :33 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อุปธิวิเวก เป็นอย่างไร
คือ กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสเรียกว่า อุปธิ อมตนิพพาน ตรัส
เรียกว่า อุปธิวิเวก คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็น
ที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก
กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
คำว่า ไกลจากวิเวก อธิบายว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำอย่างนี้ ถูกกิเลสมากหลาย
ปิดบังไว้อย่างนี้ จมลงในเหตุให้ลุ่มหลงอย่างนี้ ย่อมอยู่ไกลจากกายวิเวกบ้าง ไกลจาก
จิตตวิเวกบ้าง ไกลจากอุปธิวิเวกบ้าง คือ ไกล ห่างไกล แสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ใกล้เคียง
ไม่ชิด ไม่ใกล้ชิด
คำว่า ผู้เป็นเช่นนั้น ได้แก่ ผู้เป็นเช่นนั้น คือ ผู้เป็นอย่างนั้น ผู้ดำรงอยู่
อย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง รวมความว่า
ผู้เป็นเช่นนั้นย่อมอยู่ไกลจากวิเวก

ว่าด้วยกาม 2 อย่าง
คำว่า กาม ในคำว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละ
ได้ง่ายเลย ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2) กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาส
หญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน นิคม
ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
(เหล่านี้)ชื่อว่าวัตถุกาม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :34 }