เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา 2 อย่าง
คือ (1) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี คือ
ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความปรารถนา บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี

ว่าด้วยมหาภูตรูป 4
คำว่า รูป ในคำว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และ
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4
คำว่า เมื่อรูปไม่มี ได้แก่ รูปไม่มีเพราะเหตุ 4 อย่าง คือ
1. เพราะการรู้ 2. เพราะการพิจารณา
3. เพราะการละ 4. เพราะการก้าวพ้น
รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้รูป คือ รู้จัก มองเห็นว่า "รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปทั้งหมด คือ
มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4" รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการพิจารณา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทำรูปที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้ พิจารณารูป คือ พิจารณาโดยความ
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็น
อาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็น
อุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่ต้านทาน
เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ
เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :327 }