เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา... ธรรม
เหล่านี้ควรรู้ยิ่ง... ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้... ธรรมเหล่านี้ควรละ... ธรรมเหล่านี้
ควรเจริญ... ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัด
ออกแห่งผัสสายตนะ1 6 ... แห่งอุปาทานขันธ์2 5 ... แห่งมหาภูตรูป 4
รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ตรัสสอน ตรัสไว้ คือ ทรงบอก ทรงแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้วว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเพื่อความ
รู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ พวกเธอควรทำตามโอวาท
ทำตามคำสั่งสอนของเรานั้น ผู้แสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง
ผู้แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล ผู้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่
แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ก็เป็นการเพียงพอเพื่อความยินดี เพื่อความปราโมทย์
เพื่อโสมนัสว่า "พระผู้มีพระภาคตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระ
องค์ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว"... ก็แล เมื่อตรัสเวยยากรณภาษิตนี้
ทั้ง 10,000 โลกธาตุ ก็ได้สั่นไหวแล้ว3 รวมความว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะ
ทรงทราบแล้วตรัสไว้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี

เชิงอรรถ :
1 ผัสสายตนะ 6 หมายถึงแดนเกิดผัสสะ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/173/396)
2 อุปาทานขันธ์ 5 คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (สํ.ข. 17/
48/39)
3 องฺ.ติก. 20/126/269-270, อภิ.ก. 37/806/465-466

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :320 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
[104] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์

ว่าด้วยต้นเหตุความดีใจและความเสียใจ
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธ
เนรมิตทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิด
แห่งความดีใจและความเสียใจว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏขึ้นจากไหน
มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวม
ความว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่ออะไรไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความดีใจและความเสียใจจึงไม่มี คือ ไม่มีอยู่
ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น รวมความว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและ
ความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
คำว่า ... เรื่องความไม่มีและความมีว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด อธิบายว่า
ความมีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความมี ความเป็น ความเกิด ความเกิดขึ้น ความบังเกิด ความบังเกิดขึ้น
ความปรากฏแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่าความมีแห่งความดีใจและความ
เสียใจ
ความไม่มีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความทำลายไป ความเป็นของ
ไม่เที่ยง ความอันตรธานไปแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่า ความไม่มีแห่ง
ความดีใจและความเสียใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :321 }