เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ธรรมแม้เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
อธิบายว่า เมื่อความดีใจและความเสียใจมีอยู่ คือเมื่อความสุขและความทุกข์ โสมนัส
และโทมนัส อารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ความยินดีและความยินร้าย
มีอยู่ คือ ปรากฏอยู่ อันตนเข้าไปได้อยู่ ธรรมเหล่านี้ก็มีได้ รวมความว่า ธรรมแม้
เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
คำว่า บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ อธิบายว่า ญาณ1
ชื่อว่า ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ

เชิงอรรถ :
1 ญาณ ในที่นี้ หมายถึง ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้ง
แต่ต้นจนถึงที่สุด
1. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดรู้นามและรูป
2. ปัจจยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป
3. สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์
4. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ
5. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด
6. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป
ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
7. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ
8. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
9. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนา
ที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น
10. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก
11. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย
12. สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่ การหยั่งรู้อริยสัจจ์
13. โคตรภูญาณ ญาณหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล
14. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
15. ผลญาณ ญาณในอริยผล ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ
16. ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่
เหลืออยู่ และนิพพาน (ขุ.ป. 31/1-65/5-78, วิสุทฺธิ. 2/662-804/250-350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :317 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ เปรียบเหมือนอริยมรรค1 ชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทว-
มรรค2 ชื่อว่าทางแห่งเทวะ พรหมมรรค3 ชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ญาณ ชื่อว่า
ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบทอยู่
คือ สีลขันธ์เล็ก สีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความประพฤติ เป็น
ความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรม
ที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม... บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้ชื่อว่าอธิจิตต-
สิกขา

เชิงอรรถ :
1 มรรคมีองค์ 8 ดูเชิงอรรถข้อ 5/18
2 เทวมรรค คือเทวธรรมนั่นเอง หมายถึงธรรมของเทวดา ได้แก่ (1) หิริ (2) โอตตัปปะ (3) สุกกธรรม
แปลว่าธรรมฝ่ายขาว เป็นชื่อแห่ง หิริ และโอตัปปะ สุกกธรรมได้แก่ สุจริตในไตรทวาร (1. กายสุจริต 3
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม 2. วจีสุจริต 4 ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ
ไม่พูดเพ้อเจ้อ 3. มโนสุจริต 3 ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตคิดพยาบาท มีความเห็นชอบ) (ม.มู. 12/
441/390-391, องฺ.ทุก. 20/8-9/51-52, องฺ.ทสก. 24/176/216-221)
3 พรหมมรรค คือพรหมจรรย์นั่นเอง พรหมจรรย์คือจริยธรรมที่ประเสริฐ หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ดูเชิงอรรถ
ข้อ 5/18 และ ขุ.จู. 30/10/44

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :318 }