เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการตัดสินใจ
คำว่า ชนในโลก ... ย่อมทำการตัดสินใจ อธิบายว่า
คำว่า การตัดสินใจ ได้แก่ การตัดสินใจ 2 อย่าง คือ (1) การตัดสินใจด้วย
อำนาจตัณหา (2) การตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ สำหรับคนบางคนในโลกนี้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความหมดสิ้นไป เขามีความคิดอย่างนี้ว่า "เพราะ
อุบายอะไรหนอ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา จึงไม่เกิดขึ้น และโภคทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แล้ว จึงถึงความสิ้นไป" เขาก็มีความคิดต่อไปอย่างนี้ว่า "เมื่อเรามัวแต่ดื่มน้ำเมาคือ
สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความหมดสิ้นไป เมื่อเรามัวแต่เที่ยวกลางคืน... เมื่อเรา
มัวแต่เที่ยวดูมหรสพ... เมื่อเรามัวแต่อยู่ในความประมาทด้วยการเล่นการพนัน...
เมื่อเรามัวแต่คบคนชั่วเป็นมิตร... เมื่อเรามัวแต่เกียจคร้าน โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็
ไม่เกิดขึ้น โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความหมดสิ้นไป" ครั้นรู้อย่างนี้แล้ว จึงไม่
ประพฤติสิ่งที่เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ 6 ประการ ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นทาง
เจริญแห่งโภคทรัพย์1 6 ประการ ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหาเป็น
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมดำเนินชีวิตด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม
(เลี้ยงปศุสัตว์) ศาสตร์แห่งการยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างนี้บ้าง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อตาเกิดขึ้น ก็เข้าใจว่า "ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว"

เชิงอรรถ :
1 ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ 6 ประการ (1) ไม่เป็นนักเลงหญิง (2) ไม่เป็นนักเลงสุรา (3) ไม่เป็นนักเลง
การพนัน (4) มีมิตรดี (5) มีสหายดี (6) ใฝ่ใจในกัลยาณมิตร (องฺ.อฏฺฐก. 23/55/237-239)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :313 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เมื่อตาหายไปก็เข้าใจว่า "ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว"
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
เมื่อหู... จมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... เมื่อโผฏฐัพพะเกิดขึ้น
ก็เข้าใจว่า "ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว"
เมื่อโผฏฐัพพะหายไปก็เข้าใจว่า "ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว"
ชนย่อมทำ คือให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งการตัดสินใจด้วย
อำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ... มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... ในอายตนโลก รวมความว่า ชนในโลก
ย่อมทำการตัดสินใจ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อม
และความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ
[103] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
คำว่า ความโกรธ ในคำว่า ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จและความสงสัย
ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ... เห็นปานนี้
มุสาวาท ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
ความลังเล ตรัสเรียกว่า ความสงสัย
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :314 }