เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ใน
ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) ... ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน
ความทะยานอยากมีอยู่ในมโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา) ... ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหาร
(อาหารคือวิญญาณ) วิญญาณก็ตั้งอยู่ งอกงามในวิญญาณาหารนั้นได้ วิญญาณ
ตั้งอยู่งอกงามได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีได้ในที่นั้น ความก้าวลงแห่ง
นามรูปมีอยู่ในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารก็มีได้ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารมีอยู่
ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ก็มีได้ในที่นั้น ความเกิดในภพใหม่มีอยู่ในที่ใด ชาติ ชรา
มรณะ ต่อไปก็มีได้ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป มีอยู่ในที่ใด เราก็กล่าวว่า ที่นั้น
มีความเศร้าโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้นใจ1" รวมความว่า นรชน ...
เมื่อดำรงตนอยู่ ย่อมเป็นอย่างนี้
คำว่า จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง อธิบายว่า กามคุณ 5 ตรัสเรียกว่า เหตุ
ให้ลุ่มหลง
คือ รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด เสียงที่รู้ได้ทางหู ... กลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก ... รสที่รู้ได้ทางลิ้น ...
โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด เพราะเหตุไร กามคุณ 5 จึงตรัสเรียกว่า เหตุให้ลุ่มหลง เพราะโดย
มากเทวดาและมนุษย์ ย่อมหลง ลุ่มหลง หลงงมงายในกามคุณ 5 เทวดาและมนุษย์
เหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้หลง ลุ่มหลง หลงงมงาย คือ ถูกอวิชชาทำให้มืดบอด หุ้มห่อ
โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ เพราะเหตุนั้น กามคุณ 5 จึงตรัส
เรียกว่า เป็นเหตุให้ลุ่มหลง
คำว่า จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง ได้แก่ จมลง หมกมุ่น หยั่งลง ดิ่งลง ในเหตุ
ให้ลุ่มหลง รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง

เชิงอรรถ :
1 สํ.นิ. 16/64/98

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :31 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยวิเวก 3 อย่าง
คำว่า วิเวก ในคำว่า ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ได้แก่ วิเวก
3 อย่าง คือ (1) กายวิเวก(ความสงัดกาย) (2) จิตตวิเวก(ความสงัดใจ)
(3) อุปธิวิเวก(ความสงัดอุปธิ)
กายวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้สอยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา
ซอกเขา ช่องเขา สุสาน ป่าดงดิบ กลางแจ้ง ลอมฟาง และมีกายสงัดอยู่ คือ
เดินรูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านบิณฑบาตรูปเดียว
กลับรูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปลำพังรูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก
จิตตวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานย่อมมีจิตสงัดจากนิวรณ์1 ผู้บรรลุทุติยฌานย่อมมีจิตสงัด
จากวิตกและวิจาร ผู้บรรลุตติยฌานย่อมมีจิตสงัดจากปีติ ผู้บรรลุจตุตถฌานย่อมมี
จิตสงัดจากสุขและทุกข์ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ2 ย่อมมีจิตสงัดจาก
รูปสัญญา3 ปฏิฆสัญญา4 นานัตตสัญญา5 ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ6ย่อมมี
จิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ7ย่อมมีจิต
สงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ8 ย่อมมี
จิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

เชิงอรรถ :
1 นิวรณ์ ดูรายละเอียดข้อ 5/17
2 อากาสานัญจายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดอากาศ คือความว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็น
ขั้นที่ 1 ของอรูปฌาน (ขุ.ม.อ. 7/96)
3 รูปสัญญา คือความจำได้หมายรู้เรื่องรูป หมายถึงสัญญาในรูปฌาน 15 ด้วยสามารถกุศลวิบากและกิริยา
(ขุ.ม.อ. 7/96)
4 ปฏิฆสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ความกระทบกระทั่งในใจ ที่เกิดจากการกระทบกันแห่งตากับรูป เป็นต้น
(ขุ.ม.อ. 7/96)
5 นานัตตสัญญา คือความหมายรู้ไม่ใช่ตนก็มิใช่ หมายถึงกามาวจรสัญญา 44 (ขุ.ม.อ. 7/97)
6 วิญญาณัญจายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ (ขุ.ม.อ. 7/97)
7 อากิญจัญญายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดความไม่มีอะไรเหลือเป็นอารมณ์ (ขุ.ม.อ. 7/97)
8 เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติคือสมาบัติที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ (ขุ.ม.อ. 7/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :32 }