เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รักว่า "เราเป็นผู้มีปกติ
ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจ" ส่วนชนอื่นเหล่านี้ หามีปกติได้รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจไม่ ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เป็นอย่างนี้
คำว่า วาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าววาจาส่อเสียด
ฟังจากข้างนี้แล้ว ไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้...อย่างนี้ ชื่อว่านำวาจา
ส่อเสียดเข้าไป โดยมุ่งหวังให้เขาแตกกัน รวมความว่า ความถือตัว ความดูหมิ่น
และวาจาส่อเสียด
คำว่า การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่ ได้แก่ กิเลส 7 ชนิด
เหล่านี้ คือ

1. การทะเลาะ 2. การวิวาท
3. ความคร่ำครวญ 4. ความเศร้าโศก
5. ความถือตัว 6. ความดูหมิ่น
7. วาจาส่อเสียด

ประกอบ คือ เกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่อง สืบเนื่องในความตระหนี่ รวมความว่า
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
คำว่า เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น อธิบายว่า เมื่อ
การวิวาท เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแล้ว ชนทั้งหลายย่อมนำ
วาจาส่อเสียดเข้าไป คือฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟัง
จากข้างโน้นแล้วไปบอกข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้
แตกแยก หรือสนับสนุนผู้ที่แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการ
แบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับการแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่ง
พวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า วาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ 2 ประการ คือ (1)
ด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก (2) ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :303 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รักว่า "เราจัก
เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจของผู้นี้" บุคคลย่อม
นำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกันว่า "ทำอย่างไร
ชนเหล่านี้ พึงเป็นคนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น 2 พวก
เป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบากไม่สบาย" บุคคลย่อมนำ
วาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้ รวมความว่า เมื่อการ
วิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส
ตอบว่า
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว
ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น
[99] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ

ว่าด้วยอะไรเป็นต้นเหตุแห่งสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า พระพุทธเนรมิต
ทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :304 }