เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล
รวมความว่า เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เมื่อความถือว่าเป็นของตนไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ย่อมไม่
เศร้าโศก คือ ไม่ลำบากใจ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า "โอ เราไม่มีสิ่ง
นั้นหนอ เราพึงมีสิ่งนั้นหนอ และเราไม่ได้สิ่งนั้นหนอ" รวมความว่า เมื่อไม่มีความ
ถือว่าเป็นของตน ก็ย่อมไม่เศร้าโศก อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยผู้ไม่ลำเอียง
คำว่า ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย อธิบายว่า ไม่ถึงฉันทาคติ
ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจราคะ
ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจ
มานะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไป
ตามอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูก
พาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมความว่า ไม่ถึงความ
ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย

ว่าด้วยผู้สงบ
คำว่า บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ อธิบายว่า บุคคลนั้น เรียก คือ กล่าว
พูด บอก แสดง ชี้แจงว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สงัด รวมความว่า
ผู้นั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ 10 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :296 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
11. กลหวิวาทสุตตนิทเทส1
อธิบายกลหวิวาทสูตร
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกลหวิวาทสูตร ดังต่อไปนี้
[97] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
คำว่า การทะเลาะ ในคำว่า การทะเลาะ การวิวาท ... มีมาจากไหน
อธิบายว่า การทะเลาะมีอาการอย่างเดียวกันกับการวิวาท ได้แก่ การทะเลาะ ก็คือ
การวิวาท การวิวาท ก็คือการทะเลาะ
อีกนัยหนึ่ง ว่าโดยการทะเลาะที่มีอาการต่างจากการวิวาท การวิวาทที่เป็น
ส่วนเบื้องต้นแห่งการทะเลาะ เรียกว่า การวิวาท กล่าวคือ พระราชาทรงวิวาทกับ
พระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดี
วิวาทกับคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาท
กับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่สาว
น้องสาววิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาว
น้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ นี้ชื่อว่าการวิวาท
การทะเลาะ เป็นอย่างไร
คือ คนครองเรือนใฝ่หาเรื่องกัน ก็ทำการทะเลาะกันด้วยกายวาจา บรรพชิต
ต้องอาบัติก็ทำการทะเลาะกันด้วยกายวาจา นี้ชื่อว่าการทะเลาะ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/869-884/503-506

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :297 }