เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
บุคคลนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาหรือความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี
ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด
[96] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ

ว่าด้วยผู้ไม่มีความถือว่าเป็นของตน
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใด ไม่มีความถือว่าเป็นของตน ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก อธิบายว่า บุคคลใดไม่มีความถือ
ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณไร ๆ ว่า นี้ของเรา หรือ สิ่งนี้ของผู้อื่น ความถือว่าเป็นของตน บุคคลนั้นละ
ได้แล้ว ... เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลใด ไม่มีความถือว่าเป็นของ
ตนในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :294 }