เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[95] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี
ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด
คำว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า
ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความยินดีนั้น บุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้คลายความ
ยินดี คือ ผู้นั้นไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป ... ในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย
ความยินดีแล้ว คือ ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คายความ
ยินดีแล้ว ปล่อยความยินดี ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว เป็นผู้หมด
ความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวม
ความว่า เป็นผู้คลายความยินดี
คำว่า ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ 5 อย่าง คือ
1. อาวาสมัจฉริยะ 2. กุลมัจฉริยะ
3. ลาภมัจฉริยะ 4. วัณณมัจฉริยะ
5. ธัมมมัจฉริยะ
ความตระหนี่ ... ความมุ่งแต่จะได้เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
ความตระหนี่นั้นบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ตระหนี่
รวมความว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :292 }