เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่" บุคคลนั้นไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณ์ ที่จะให้ปุถุชนเป็นต้นกล่าวหา พูดถึง เอ่ยถึง แสดงถึง ชี้แจง
ถึงได้เลย รวมความว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วย
โทษใด

ว่าด้วยการเชิดชู 2 อย่าง
คำว่า บุคคลนั้น ในคำว่า โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า เชิดชู อธิบายว่า การเชิดชู 2 อย่าง คือ
1. การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา 2. การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ...
นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ1
บุคคลนั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว บุคคลนั้นจึงไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย
ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นยอดธง
ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า โทษนั้น
ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่หวั่นไหวในเพราะ
วาทะทั้งหลาย อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น
เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ ไม่โยก ไม่โคลง
ไม่กระเพื่อม ไม่สั่น ไม่สะท้าน ไม่สะเทือน ในเพราะวาทะ คือ ในเพราะการว่าร้าย
นินทา ติเตียน ไม่สรรเสริญ ไม่ยกย่องความดี รวมความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น
จึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :291 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[95] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี
ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด
คำว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า
ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความยินดีนั้น บุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้คลายความ
ยินดี คือ ผู้นั้นไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป ... ในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย
ความยินดีแล้ว คือ ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คายความ
ยินดีแล้ว ปล่อยความยินดี ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว เป็นผู้หมด
ความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวม
ความว่า เป็นผู้คลายความยินดี
คำว่า ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ 5 อย่าง คือ
1. อาวาสมัจฉริยะ 2. กุลมัจฉริยะ
3. ลาภมัจฉริยะ 4. วัณณมัจฉริยะ
5. ธัมมมัจฉริยะ
ความตระหนี่ ... ความมุ่งแต่จะได้เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
ความตระหนี่นั้นบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ตระหนี่
รวมความว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :292 }