เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[94] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
คำว่า เหล่าปุถุชน ในคำว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหา
บุคคลนั้นด้วยโทษใด อธิบายว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิ
อันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่ง
อภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกโอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมาก
พัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมากแผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามคุณ 5 เป็น
อันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ 5 เป็นอันมาก หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม
ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า สมณะ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง เป็นผู้เข้าถึง สมบูรณ์ด้วยการบวชภายนอก
ศาสนานี้
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้เจริญ
คำว่า เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
อธิบายว่า เหล่าปุถุชน พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ
อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย ใด ๆ ว่า "เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้
ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส"
บุคคลนั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะละอภิสังขารได้แล้ว เหล่าปุถุชน
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นโดยคติใดว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :290 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่" บุคคลนั้นไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณ์ ที่จะให้ปุถุชนเป็นต้นกล่าวหา พูดถึง เอ่ยถึง แสดงถึง ชี้แจง
ถึงได้เลย รวมความว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วย
โทษใด

ว่าด้วยการเชิดชู 2 อย่าง
คำว่า บุคคลนั้น ในคำว่า โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า เชิดชู อธิบายว่า การเชิดชู 2 อย่าง คือ
1. การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา 2. การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ...
นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ1
บุคคลนั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว บุคคลนั้นจึงไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย
ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นยอดธง
ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า โทษนั้น
ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่หวั่นไหวในเพราะ
วาทะทั้งหลาย อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น
เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ ไม่โยก ไม่โคลง
ไม่กระเพื่อม ไม่สั่น ไม่สะท้าน ไม่สะเทือน ในเพราะวาทะ คือ ในเพราะการว่าร้าย
นินทา ติเตียน ไม่สรรเสริญ ไม่ยกย่องความดี รวมความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น
จึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :291 }