เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
1. บุตรเกิดจากตน 2. บุตรเกิดในเขต
3. บุตรที่เขาให้ 4. บุตรที่อยู่ในสำนัก
คำว่า สัตว์เลี้ยง ได้แก่ แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า และลา
คำว่า นาไร่ ได้แก่ นาข้าวสาลี นาข้าวเจ้า ไร่ถั่วเขียว ไร่ถั่วราชมาศ
นาข้าวเหนียว นาข้าวละมาน ไร่งา
คำว่า ที่ดิน ได้แก่ ที่ปลูกเรือน ที่สร้างยุ้งฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน
ที่อยู่
คำว่า บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน อธิบายว่า บุคคลนั้น
ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งความยึดถือว่ามีบุตร ความยึดถือว่า
มีสัตว์เลี้ยง ความยึดถือว่ามีนาไร่ ความยึดถือว่ามีที่ดิน คือ ความยึดถือว่า
มีบุตรเป็นต้น เขาละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง
นาไร่และที่ดิน

ว่าด้วยทิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา ในคำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา
หาไม่ได้ในบุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีสัสสตทิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา ได้แก่ ไม่มีอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่ยึดถือ
คำว่า ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่พึงปล่อยวาง อธิบายว่า สิ่งที่ยึดถือ
ไม่มีแก่บุคคลใด สิ่งที่พึงปล่อยวางก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น สิ่งที่พึงปล่อยวางไม่มีแก่
บุคคลใด สิ่งที่ยึดถือก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นผู้เป็นพระอรหันต์ ก้าวพ้นการ
ยึดถือ และการปล่อยวางแล้ว ล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมแล้ว บุคคลนั้น
อยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... บุคคลนั้น ไม่มีการเวียนเกิด
เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา
หาไม่ได้ในบุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :289 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[94] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
คำว่า เหล่าปุถุชน ในคำว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหา
บุคคลนั้นด้วยโทษใด อธิบายว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิ
อันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่ง
อภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกโอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมาก
พัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมากแผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามคุณ 5 เป็น
อันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ 5 เป็นอันมาก หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม
ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า สมณะ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง เป็นผู้เข้าถึง สมบูรณ์ด้วยการบวชภายนอก
ศาสนานี้
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้เจริญ
คำว่า เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
อธิบายว่า เหล่าปุถุชน พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ
อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย ใด ๆ ว่า "เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้
ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส"
บุคคลนั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะละอภิสังขารได้แล้ว เหล่าปุถุชน
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นโดยคติใดว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :290 }