เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ตาชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา
สำรวมตา และแสดงธรรมเพื่อสำรวมตานั้น หูชอบเสียง ... จมูกชอบกลิ่น ...
ลิ้นชอบรส ... กายชอบโผฏฐัพพะ ... ใจชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์
ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมใจ และแสดงธรรม
เพื่อสำรวมใจนั้น
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้ว ซึ่งอดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ประเสริฐสุด
ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกหัดแล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น
เพราะใครก็ไปถึงนิพพานอันเป็นทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยยานพาหนะเหล่านั้นไม่ได้ เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว
มีตนฝึกหัดแล้วอย่างดี ไปถึงได้1
พระอรหันต์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากภพใหม่แล้ว
บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย
ท่านเป็นผู้ชนะแล้วในโลก2
ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้วในโลกทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก
ผู้นั้นเป็นผู้อบรมแล้ว ฝึกดีแล้ว รู้ชัดทั้งโลกนี้และปรโลก
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น3

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. 25/321-323/72
2 สํ.ข. 17/76/68
3 ขุ.สุ. 25/522/435

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :282 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย ... ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง
ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ... ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
2. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
3. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
4. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย
มีสติทุกเมื่อ
คำว่า ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ... ในโลก อธิบายว่า ไม่ให้เกิดความถือตัวเพราะ
ชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า "เราเป็นผู้เสมอเขา"
รวมความว่า ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ... ในโลก
คำว่า ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา อธิบายว่า ไม่ให้เกิด
ความดูหมิ่น เพราะชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า
"เราเลิศกว่าเขา" ไม่ให้เกิดความถือตัว เพราะชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วว่า "เราด้อยกว่าเขา" รวมความว่า ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา

ว่าด้วยกิเลสหนา 7 อย่าง
คำว่า บุคคลนั้น ในคำว่า กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กิเลสหนา ได้แก่ กิเลสหนา 7 อย่าง คือ

1. กิเลสหนาคือราคะ 2. กิเลสหนาคือโทสะ
3. กิเลสหนาคือโมหะ 4. กิเลสหนาคือมานะ
5. กิเลสหนาคือทิฏฐิ 6. กิเลสหนาคือกิเลส
7. กิเลสหนาคือกรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :283 }