เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้ไม่คลายกำหนัด
คำว่า ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด อธิบายว่า พาลปุถุชน
ทั้งหมดย่อมกำหนัด พระเสขะ 7 จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชน ย่อมคลายกำหนัด
พระอรหันต์ย่อมไม่กำหนัด จึงไม่ต้องคลายกำหนัด พระอรหันต์ชื่อว่าผู้งดเว้น
เพราะหมดสิ้นราคะแล้ว เพราะหมดสิ้นโทสะแล้ว เพราะหมดสิ้นโมหะแล้ว ท่านอยู่
ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... พระอรหันต์ไม่มีการเวียนเกิด
เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลาย
กำหนัด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[89] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ ไม่เดือดดาล
และไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

ว่าด้วยศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
คำว่า บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
อธิบายว่า
บุคคลศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอคิดอย่างนี้ว่า "เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้
จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอคิดต่อไปว่า
"ท่านผู้มีอายุนี้เป็นผู้ทรงจำพระสูตร เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอหวังลาภ จึงเล่าเรียนพระสูตร เพราะ
ลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภ
โดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :276 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร เธอคิดอย่างนี้ว่า "เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ จึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอมีความคิดต่อไปว่า "ท่านผู้มีอายุนี้
เป็นผู้ทรงจำพระวินัย ... ผู้ทรงจำพระอภิธรรม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอมุ่งหวังลาภ จึงเล่าเรียน ... พระอภิธรรม
เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการ
เกิดลาภโดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า "เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้จึงได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอมีความคิดต่อไปว่า "ท่าน
ผู้มีอายุนี้ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้
นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตาม
ลำดับตรอกเป็นวัตร ... เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร
... เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เธอมุ่งหวังลาภ จึงเป็น
ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะ
ลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภ
โดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มิได้มุ่งหวังลาภ เล่าเรียนพระสูตร เล่าเรียนพระวินัย
เล่าเรียนพระอภิธรรม เพื่อประโยชน์ในการฝึกตน เพื่อประโยชน์แก่ความสงบของตน
เพื่อประโยชน์ในการทำตนให้ดับเย็น (ปรินิพพาน) มิใช่เพราะลาภเป็นเหตุ มิใช่
เพราะลาภเป็นปัจจัย มิใช่เพราะลาภเป็นต้นเหตุ มิใช่เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภโดย
เฉพาะ บุคคลชื่อว่าไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุไม่มุ่งหวังลาภ เพียงอาศัยความปรารถนาน้อย ความสันโดษ
ความขัดเกลากิเลส ความสงัด ความเป็นผู้ต้องการกุศลนี้อย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็น
ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :277 }