เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ทราม ไม่มีความเห็นผิด ไม่ถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น เปลี่ยน
ความคิดเห็นง่าย นี้ตรัสเรียกว่า บุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ พระอริยบุคคลทุกประเภท
รวมทั้งกัลยาณปุถุชน เป็นบุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ รวมความว่า ผู้ไม่คะนอง ไม่เป็นที่
น่ารังเกียจ

ว่าด้วยผู้มีวาจาส่อเสียด
คำว่า และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด อธิบายว่า
คำว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มี
วาจาส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกคนข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจาก
ข้างโน้นแล้วไปบอกคนข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้
แตกแยก หรือสนับสนุนผู้ที่แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการ
แบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับการแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่ง
พวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. ด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก 2. ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยความประสงค์ให้ตนเป็นที่รักด้วย
คิดว่า "เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจ
ของผู้นี้" บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์จะทำให้เขาแตกกัน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยคิดว่า "ทำอย่างไร ชนเหล่านี้พึงเป็น
คนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น 2 พวก เป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย
แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบาก ไม่สบาย" บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไป
ด้วยประสงค์จะให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :270 }