เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ก็เป็นปฏิคาหก ถ้าอาตมภาพไม่รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพ
มิได้มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน" เพราะอาศัย
เหตุนั้น เธอจึงรับจีวรมากมาย รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย
รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง
กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าความหลอกลวงเกี่ยวกับ
การใช้สอยปัจจัย
ความหลอกลวงเกี่ยวกับอริยาบถ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า "คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้"
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ตั้งสติเดิน
ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมี
สมาธิยืน เหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุ
เจริญฌานอวดต่อหน้า การตั้งท่า การวางท่า การดำรงมั่นอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว
การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้
นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า "คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้"
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า "ภิกษุผู้ทรงจีวร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะ
มีศักดิ์ใหญ่ ผู้ใช้บาตร ... ใช้ภาชนะโลหะ ... ใช้ธมกรก1 ... ใช้ผ้ากรองน้ำ ... ใช้ลูกกุญแจ
... ใช้รองเท้า ... ใช้ประคดเอว ... ใช้สายโยกบาตร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะ
มีศักดิ์ใหญ่" พูดว่า "ภิกษุผู้มีอุปัชฌาย์ระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ มีอาจารย์
ระดับนี้ ... มีผู้ร่วมอุปัชฌาย์ระดับนี้ ... มีผู้ร่วมอาจารย์ระดับนี้ ... มีมิตร ...
มีพรรคพวก ... มีคนที่คบหากัน ... มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่" พูดว่า

เชิงอรรถ :
1 ธมกรก คือ กระบอกกรองน้ำของพระสงฆ์ เป็นเครื่องใช้สอยอย่าง 1 ในอัฐบริขาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :263 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
"ภิกษุผู้อยู่ในวิหารมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ ... อยู่ในเรือนมีหลังคา
ด้านเดียวมีรูปแบบอย่างนี้ ... อยู่ในปราสาท ... อยู่ในเรือนโล้น ... อยู่ในถ้ำ ...
อยู่ในที่หลีกเร้น ... อยู่ในกุฎี ... อยู่ในเรือนยอด ... อยู่ที่ป้อม ... อยู่ในโรงกลม ...
อยู่ในเรือนพัก ... อยู่ในเรือนรับรอง ... อยู่ในมณฑป ... อยู่ที่โคนไม้ มีรูปแบบ
อย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่"
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง
ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับยกย่องด้วยการวางหน้าว่า "สมณะนี้ได้วิหาร-
สมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้" ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่อง
ด้วยโลกุตตรธรรมและสุญญตนิพพาน อันลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียดอ่อน ปิดบัง
การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง
เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวง 3 อย่าง ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
หลอกลวง รวมความว่า เป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง
คำว่า ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความ
ทะเยอทะยาน คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาคือความทะเยอทะยานนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า
ผู้ไม่ทะเยอทะยาน ผู้นั้นไม่มุ่งหมาย ไม่ต้องการได้ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหวัง
รูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ...
ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัช-
บริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ...
สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ...
จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... ไม่มุ่งหมาย
ไม่ต้องการได้ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหวังรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้
และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า ผู้ไม่ทะเยอทะยาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :264 }