เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 บุคคลนั้น
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่ไป ไม่ออก ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วย
ทิฏฐิ บุคคลนั้นจึงไม่กลับถือ ไม่หวนกลับมาสู่ทิฏฐินั้นว่าเป็นสาระอีก รวมความว่า
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[87] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด

ว่าด้วยผู้หลีกเร้น
คำว่า บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ในคำว่า บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง
อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้หลีกเร้น เพราะละราคะได้แล้ว ... เพราะละโทสะได้แล้ว ...
เพราะละโมหะได้แล้ว ... เพราะละโกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ...
มัจฉริยะ ... ชื่อว่าเป็นผู้หลีกเร้น เพราะละอกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น เป็นอย่างนี้"1 รวมความว่า เป็นผู้หลีกเร้น

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก. 21/38/46

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :261 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความหลอกลวง 3 อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง ได้แก่ ความหลอกลวง 3 อย่าง คือ
1. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
2. ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
3. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า "จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำ
สังฆาฏิใช้ จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ
สมณะควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา
จึงจะเป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควร
อยู่ที่โคนไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า
หรือชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม"
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวรเศร้าหมอง ฉันบิณฑบาต
เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ คหบดี
ทั้งหลายรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า "สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
สงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา" ก็ยิ่ง
นิมนต์เธอให้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น
เธอจึงพูดอย่างนี้ว่า "เพราะพรั่งพร้อมด้วยเหตุ 3 ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธา
ย่อมประสบบุญมาก คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา ... เพราะพรั่งพร้อมด้วย
ไทยธรรม ... เพราะพรั่งพร้อมด้วยพระทักขิไณยบุคคล กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อม
ประสบบุญมาก ท่านทั้งหลายมีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อม ทั้งอาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :262 }