เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
10. วิมุตติญาณทัสสนกถา (ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจเรื่องความรู้
ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์)
ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทริยกถา
พลกถา โพชฌงคกถา มัคคกถา ผลกถา นิพพานกถา
คำว่า ผู้สำรวมวาจา ได้แก่ ผู้สำรวม เคร่งครัด คุ้มครอง ปกปัก รักษา
สังวร สงบ
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี รวมความว่า บุคคล ... เป็นผู้สำรวมวาจา
นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจา นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี
[86] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย

ว่าด้วยผู้ไม่มีตัณหา
คำว่า บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เครื่องเหนี่ยวรั้ง คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลไม่ดำเนินตามความเพลิดเพลินในรูปว่า "ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... พึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :258 }