เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อน
นั้นว่า ในอดีตกาล เราได้มีตาเช่นนี้ เห็นรูปเช่นนี้ จึงไม่เพลิดเพลินตาและรูปนั้น
เพราะเป็นผู้ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะ พระอรหันต์ จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับ
ความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น เพราะไม่ใยดีในตาและรูปนั้น อย่างนี้บ้าง
พระอรหันต์ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ในอดีตกาล
เราได้มีหูเช่นนี้ ได้ยินเสียงเช่นนี้ ... เราได้มีจมูกเช่นนี้ ได้กลิ่นเช่นนี้ ... เราได้มีลิ้นเช่นนี้
รู้รสเช่นนี้ ... เราได้มีกายเช่นนี้ สัมผัสกับโผฏฐัพพะเช่นนี้ ... พระอรหันต์ย่อมไม่มี
วิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ในอดีตกาลเราได้มีใจเช่นนี้
รู้ธรรมารมณ์เช่นนี้ จึงไม่เพลิดเพลินอายตนะภายในและอายตนะภายนอกนั้น เพราะ
ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะ พระอรหันต์ จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับความ
เพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น เพราะไม่ใยดีในใจและธรรมารมณ์นั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ชื่นใจ ไม่ใยดี ไม่ถึงความปลาบปลื้มใจ ด้วย
การหัวเราะ การพูดจา การปราศรัย และการเล่นหัวกับมาตุคาม ในครั้งก่อน แม้
ด้วยประการอย่างนี้ พระอรหันต์จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วน
เบื้องต้น
คำว่า ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง อธิบายว่า ปัจจุบันกาล ตรัส
เรียกว่า ส่วนท่ามกลาง พระอรหันต์ปรารภปัจจุบันกาล ละตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้ง
ทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละตัณหา สลัดทิ้งทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จึงกำหนดไม่ได้ว่า
เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้ลังเล เป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส
พระอรหันต์ละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ใคร ๆ
จึงกำหนดไม่ได้โดยคติว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นผู้เกิด
ในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มี
สัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่" พระอรหันต์นั้นจะพึงกำหนด
ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า ใคร ๆ
กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :250 }