เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า นรชนนั้น ในคำว่า ข้าแต่พระโคตมะ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
นรชน ... นั้น แก่ข้าพระองค์เถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ นรชนใด พระพุทธเนรมิตเรียกพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าโดยพระโคตรว่า พระโคตมะ
คำว่า โปรดตรัสบอก อธิบายว่า โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ทรงประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระโคตมะ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชน ... นั้น แก่ข้าพระองค์เถิด
คำว่า ทูลถามแล้ว ในคำว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ... นรชนผู้สูงสุด
อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลสอบถาม ทูลถามแล้ว ทูลขอแล้ว ทูลอัญเชิญแล้ว ทูลให้
ทรงประกาศแล้ว
คำว่า นรชนผู้สูงสุด อธิบายว่า นรชนผู้ยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า
สูงสุด ประเสริฐสุด รวมความว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ... นรชนผู้สูงสุด ด้วย
เหตุนั้น พระพุทธเนรมิตนั้นจึงทูลถามว่า
บุคคลมีทัสสนะอย่างไร มีศีลอย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
[84] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา อธิบายว่า
ก่อนกายแตก ก่อนอัตภาพแตก ก่อนการทิ้งซากศพ ก่อนการขาดชีวิตินทรีย์
พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ปราศจากตัณหาแล้ว สละตัณหาได้แล้ว
คายตัณหาได้แล้ว ปล่อยตัณหาได้แล้ว ละตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งตัณหาได้แล้ว คือ
เป็นผู้คลายความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะได้แล้ว คายราคะ
ได้แล้ว ปล่อยราคะได้แล้ว ละราคะได้แล้ว สลัดทิ้งราคะได้แล้ว เป็นผู้หมดความ
อยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :248 }