เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[81] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
คำว่า ไม่ ในคำว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัว
ด้วยอารมณ์ที่รับรู้ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค 4 ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา
ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่อง
เห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ
มุนีนั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด
ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น
ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย
บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชราและมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง มุนีนั้น ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะรู้แจ้งธรรม 7 ประการแล้ว คือ

1. รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ 2. รู้แจ้งวิจิกิจฉา
3. รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส 4. รู้แจ้งราคะ
5. รู้แจ้งโทสะ 6. รู้แจ้งโมหะ
7. รู้แจ้งมานะแล้ว

มุนีนั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :241 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลวิจัยเวททั้งหมดของสมณพราหมณ์ที่มีอยู่
เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท1
คำว่า ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 มุนีนั้น ละได้แล้ว คือ
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือ
ญาณแล้ว มุนีนั้น ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่กลับมา
ไม่หวนกลับมาหาทิฏฐินั้น โดยเห็นเป็นสาระอีก รวมความว่า มุนีผู้จบเวทนั้น
ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
คำว่า มุนีนั้นย่อมไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า มุนีนั้น
ย่อมไม่ถึง คือ ไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปหา ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ความถือตัว ด้วย
รูปที่รู้แล้ว ด้วยเสียงบอกเล่าของผู้อื่น หรือด้วยสมมติของมหาชน รวมความว่า
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น อธิบายว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและ
ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ มุนีนั้นละ
ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่
พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด มุนีนั้น ก็ชื่อว่าไม่มีตัณหาและ
ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ด้วยเหตุนั้น รวมความว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น
คำว่า ไม่ถูกกรรม ในคำว่า ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป อธิบายว่า มุนี ไม่ไป
คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรือ
อาเนญชาภิสังขาร รวมความว่า ไม่ถูกกรรม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/535/438

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :242 }