เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลาย
ความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว
ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็น
แล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
อย่างนี้
คำว่า ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า แปดเปื้อน ได้แก่ ความแปดเปื้อน 2 อย่าง คือ (1) ความแปดเปื้อน
ด้วยอำนาจตัณหา (2) ความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อน
ด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ2
มุนีละความแปดเปื้อนด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความแปดเปื้อนด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ย่อมไม่ติด ไม่ติดแน่น ไม่แปดเปื้อนในกามและในโลก คือ เป็นผู้
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิติด ติดแน่น แปดเปื้อน ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้อง(ในกามและในโลก)แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า มุนีผู้
กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2
2 เทียบกับความในข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :240 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[81] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
คำว่า ไม่ ในคำว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัว
ด้วยอารมณ์ที่รับรู้ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค 4 ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา
ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่อง
เห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ
มุนีนั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด
ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น
ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย
บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชราและมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง มุนีนั้น ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะรู้แจ้งธรรม 7 ประการแล้ว คือ

1. รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ 2. รู้แจ้งวิจิกิจฉา
3. รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส 4. รู้แจ้งราคะ
5. รู้แจ้งโทสะ 6. รู้แจ้งโมหะ
7. รู้แจ้งมานะแล้ว

มุนีนั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :241 }