เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[80] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
คำว่า เหล่าใด ในคำว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
ได้แก่ ทิฏฐิทั้งหลาย
คำว่า สงัด ได้แก่ ว่าง สงัด เงียบ จากกายทุจริต ... จากวจีทุจริต ... จาก
มโนทุจริต ... จากราคะ ... ว่าง สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า พึงเที่ยวไป ได้แก่ พึงเที่ยวไป คือ พึงอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิ
เหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
คำว่า ผู้นาคะ ในคำว่า ผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า
ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ถึง ชื่อว่า
บุคคลผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :237 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้นาคะ1
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างนี้
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ถึงโทสาคติ(ลำเอียงเพราะชัง)
ไม่ถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ถึงภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ไม่ดำเนินไป
ด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจ
อุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่
ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างนี้
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดอริยบุคคลละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นก็
ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละ
ได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ... ด้วยอนาคามิมรรค ... ด้วยอรหัตตมรรค อริยบุคคล
นั้นก็ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างนี้
คำว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า บุคคลผู้
นาคะ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจง ยึด จับ ถือ ยึดมั่น
ถือมั่นทิฏฐิเหล่านั้น ได้แก่ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจงว่า "โลกเที่ยง
... โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ" รวมความว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจา
ยึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/528/437

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :238 }