เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[80] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
คำว่า เหล่าใด ในคำว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
ได้แก่ ทิฏฐิทั้งหลาย
คำว่า สงัด ได้แก่ ว่าง สงัด เงียบ จากกายทุจริต ... จากวจีทุจริต ... จาก
มโนทุจริต ... จากราคะ ... ว่าง สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า พึงเที่ยวไป ได้แก่ พึงเที่ยวไป คือ พึงอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิ
เหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
คำว่า ผู้นาคะ ในคำว่า ผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า
ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ถึง ชื่อว่า
บุคคลผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :237 }