เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร
คือ ความซ่านไปหา และความผูกพันกับที่อาศัย คือ รูปนิมิต ... สัททนิมิต ...
คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระตถาคตว่า "ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไป
หาที่อาศัย" ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ เพลิดเพลินร่วมกัน
เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขา
มีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อ
ใยในกาม เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ ไม่เพลิดเพลิน
ร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็มิได้
ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่าน
คหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก
ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ
เร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกาม
ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ
ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจาก
ตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :235 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า "ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้" เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น มีความ
มุ่งหวังอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล "เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ...
พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้" เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความ
ปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า "ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้" ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า "ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนา
อย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้" เธอก็
ไม่ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวัง
อัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า "ท่านไม่รู้
ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด" ท่านคหบดี บุคคลกล่าว
ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า "ท่านไม่รู้
ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด" ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าว
ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมาคันทิยปัญหา อันมาใน
อัฏฐกวรรคว่า
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน ดังนี้แล
ท่านคหบดี เนื่อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ พึงทราบโดย
พิสดารอย่างนี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :236 }