เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[77] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา
(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
คำว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้น
พึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น อธิบายว่า ผู้ใดสำคัญว่า "เราเสมอเขา
เราเลิศกว่าเขา หรือ เราด้อยกว่าเขา" ผู้นั้น พึงต้องก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง
ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยความถือตัวนั้น คือ ด้วยทิฏฐินั้น
หรือกับบุคคลนั้นว่า "ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัย
นี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูกต้อง คำของเรามีประโยชน์ คำของท่าน
ไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อนท่านกลับพูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลังท่าน
กลับพูดก่อน คำที่ท่านใช้เสมอกลับติดขัด วาทะของท่านเราหักล้างได้แล้ว
เราปราบปรามท่านได้แล้ว ท่านจงเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะ หรือหากท่านสามารถ
ก็จงแก้ไขเถิด" รวมความว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
คำว่า บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง ความสำคัญว่า
เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น อธิบายว่า
ความถือตัว 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ
ไม่เอนเอียง ในความถือตัว 3 อย่างเหล่านั้น ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ
กว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีแก่เรา รวมความว่า บุคคลไม่หวั่นไหวใน
เพราะความถือตัว 3 อย่าง ความสำคัญว่า "เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อย
กว่าเขา จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น" ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :231 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา
(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[78] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา
(หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า
คำว่า พราหมณ์ ในคำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
อธิบายว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม 7 ประการได้แล้ว ... บุคคล
นั้นไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์1
คำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง อธิบายว่า บุคคล
ผู้เป็นพราหมณ์ พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ" พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า "โลกไม่เที่ยง ...
หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ" รวมความว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
คำว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์พึงก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการ
แก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยมานะอะไร ด้วยทิฏฐิอะไร หรือกับ
บุคคลใดว่า "คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ... ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ... หรือหาก
ท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด" รวมความว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึง
โต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 25/104-105

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :232 }